เทศบาลตำบลเทพาลัย อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา: www.taepalaicity.go.th

 
 
ข่าวประชาสัมพันธ์


เฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

    รายละเอียดข่าว

โคราชพบแล้ว 1 ราย ⚫️

เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า !!

-------------------

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องหลังจากพบสัตว์พบเชื้อพิษสุนัขบ้า จำนวน 5 ตัว ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบในอำเภอประทาย 2 ตัว , อำเภอเมืองยาง อำเภอบัวใหญ่ อำเภอชุมพวง อำเภอละ 1 ตัว และพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 1 ราย ในอำเภอประทาย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เน้นย้ำการป้องกันอย่างถูกวิธี ด้วยการเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หลังจากถูกสุนัข - แมวกัด ข่วน เลียบาดแผล น้ำลายกระเด็นเข้าตา ปาก แม้ว่าแผลจะมีขนาดที่เล็กเพียงรอยถลอก ก็ควรเข้าพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ และเข้ารับวัคซีนตามกำหนดให้ครบถ้วน ย้ำ การเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นทางเดียวในการป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันการเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าได้

นายแพทย์สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน มีความรุนเเรงถึงชีวิต ผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะเสียชีวิตทุกราย เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มี ยาที่ใช้ในการรักษา แต่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน โรคนี้สามารถพบได้ตลอดทั้งปี ไม่ได้เกิดเฉพาะช่วงหน้าร้อนอย่างที่ทุกคนเข้าใจ

โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว โค กระบือ หนู กระรอก กระต่าย ลิง ค้างคาว ในประเทศไทยพบในสุนัข แมว และพบบ้างในโค กระบือ โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีบาดแผล รอยถลอก รอยขีดข่วนบาดแผล หรือถูกบริเวณเยื่อบุตาหรือปาก ไม่ว่าคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อนี้เเล้วต้องเสียชีวิตทุกราย ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าจะมีอาการเบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดเมื่อย มีไข้ อ่อนเพลีย ชา เจ็บ เสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงบริเวณบาดแผล ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย ไวต่อเสียงดัง เพ้อ กลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ กลืนลำบาก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ชัก เกร็ง เป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ดังนั้นหากถูกสุนัขกัด ข่วน หรือเลียแม้จะมีเเค่รอยถลอกบาดแผลเพียงเล็กน้อย ก็อย่าชะล่าใจ ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาดนาน อย่างน้อย 15 นาที เพื่อกำจัดเชื้อออกให้มากที่สุด จากนั้นใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล และไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สิ่งสำคัญต้องฉีดให้ครบชุดและตรงตามแพทย์นัด และกักสุนัขเพื่อดูอาการ 10 วัน หากสุนัขตายให้แจ้งสํานักงานปศุสัตว์์เพื่อส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าต่อไป

นายแพทย์สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า “ขอให้ประชาชนพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี โดยปีแรกต้องฉีดวัคซีน 2 เข็ม เมื่อสัตว์เลี้ยงอายุครบ 2 เดือน ควรนำไปฉีดวัคซีนเข็มเเรก และฉีดเข็มที่ 2 หลังจากเข็มแรก 3 - 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นฉีดกระตุ้นทกุปี หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า หากถูกสัตว์เลี้ยงสุนัข แมว กัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าตา ปาก หรือบาดแผลแม้เพียงเล็กน้อย ต้องป้องกันอย่างถูกวิธีทันที ล้างแผล ใส่ยา หาหมอ ฉีดวัคซีนต่อให้ครบชุด เนื่องจากโรคนี้มีะยะฟักตัวเฉลี่ยนาน 3 เดือน เร็วสุด 4 วัน บางรายอาจเป็นปี จึงจะแสดงอาการป่วย ซึ่งเมื่อมีอาการปรากฏจะไม่มีทางรักษาและเสียชีวิตทุกราย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมโดยเร็ว”

-------------------

#ถูกสัตว์กัดข่วนเลียให้ไปฉีดวัคซีนทันที

ภาพและข้อมูลจาก  https://www.facebook.com/nakhonratchasima.health/



    เอกสารประกอบ

เฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
 
    วันที่ลงข่าว
: 12 เม.ย. 2568
    ผู้ลงข่าว :